หลักการและเหตุผล
ด้วยเชื่อว่า เยาวชน เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ มีความสามารถ มีพลัง ในการคิด และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ อีกทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขทั้งในปัจจุบัน สืบต่อไปถึงอนาคต ดังนั้นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ เพื่อบ่มเพาะ และพัฒนาศักยภาพคนเยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีทั้งความรู้ สติปัญญา คุณธรรมจริยธรรม เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม และมีจิตอาสา จึงมีความสำคัญยิ่ง
มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับองค์กรเจ้าภาพร่วมจัด 11 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,กรุงเทพมหานคร,หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร,อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัพเวอรี่,ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (RECOFTC) และภาคีเครือข่ายองค์กรด้านการพัฒนาเยาวชนจำนวน 102 องค์กร จึงได้ริเริ่มจัดงาน มหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1 ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้ เมื่อวันที่ 9 11 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การเปิด พื้นที่ และโอกาส ในการนำเสนอเรื่องราว และผลงานดีๆ ของเยาวชนที่ได้ใช้ พลัง ศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาตนเอง ผ่านการลงมือทำ ด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ความสามารถนั้นให้เกิดประโยชน์กับสังคม ทั้งนี้ให้สังคมได้รับรู้ และตระหนักถึง พลังเชิงบวกของเยาวชน ในการ ร่วมคิด ร่วมสร้าง สังคมไทย อีกทั้งเป็นการสานพลังภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเยาวชนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามเครือข่าย เพื่อหาช่องทาง และโอกาสในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมพลังการทำงานพัฒนาเยาวชนในสังคมไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ผลจากการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1 ก่อให้เกิดผลดังนี้
1. เยาวชนมีโอกาส และพื้นที่ได้แสดงผลงาน และศักยภาพให้สังคมรับรู้เรื่องราวดีๆ ของเยาวชนในฐานะที่เป็นพลังร่วมในการพัฒนาสังคม
2. เยาวชนผู้นำเสนอบทเรียนความสำเร็จ เยาวชนรู้สึกมีคุณค่า และภาคภูมิใจในตนเอง เกิดกำลังใจ มีแรงบันดาลใจ ในการทำสิ่งดีๆ ที่เป็นการพัฒนาตนเอง และสังคมต่อไป
3. เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนมาร่วมกันสื่อสารสร้างการรับรู้ให้สังคมเห็นศักยภาพของเยาวชน และเห็นความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนได้อย่างมีพลัง
4. เกิดการรวบรวมฐานข้อมูลเยาวชนต้นแบบ ใน 10 ประเด็น (ประมาณ 200 ตัวอย่าง ) และฐานข้อมูลภาคีเครือข่ายองค์กรด้านพัฒนาเยาวชน (จำนวน 102 องค์กร) โดยจัดทำเป็นสิ่งพิมพ์สื่อสารสร้างการรับรู้ของสังคมได้ในวงกว้าง
5. ภาคีเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงการทำงานภายในประเด็น นำไปสู่ความร่วมมือขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น เช่น ประเด็นจิตอาสา สิ่งแวดล้อม กลุ่มสภาเด็ก และเยาวชน ICT เป็นต้น
จากผลสำเร็จในข้างต้น มูลนิธิสยามกัมมาจล ในฐานะองค์กรเลขานุการจัดงานฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเยาวชน กำหนดจัดงานมหกรรมเยาวชนพลังเยาวชน พลังสังคม ครั่งที่ 2 ขึ้น ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2554 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพมหานคร เพื่อสื่อสารให้สังคมเห็นพลังของเยาวชน และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้างสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเยาวชนในระยะยาว
|