HomeAbout |  PartnersNews UpdateKnowledge | Media & DownloadActivitiesVolunteersContact  
 
 
 
 
 
 
 

เกมประชันนักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (The Leader)
ณ อาคารหอจดหมายเหตุ ชั้น 1 เวทีโถง ชั้น 1
วันที่ 6-8 พฤษภาคม 2554 เวลา 09.00 – 12.00 น.

วัตถุประสงค์
มีการชี้แจงจาก 2 ช่องทาง ดังนี้
1. ช่องทางที่ 1ชี้แจงผ่านการเปิดงานโดยกล่าวถึงหลักคิดความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมองว่าหลักคิดดังกล่าวมักจะปรากฏในเชิงวิชาการเป็นส่วนใหญ่ทำให้ยากต่อการเข้าใจ องค์กรหลักที่จัดกิจกรรม คือ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับเยาวชน จึงออกแบบกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้คู่ไปกับความสนุกสนานพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ที่สนเข้าร่วมเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมไปด้วย กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช้คำว่าแข่งขัน เนื่องจากต้องการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
2. ช่องทางที่ 2 จากแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ที่ตั้งแสดงในบูทของมูลนิธิฯ โดยมีจุดประสงค์ของการเรียนรู้ ดังนี้
2.1 เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้เล่นจะต้องเล่นเกมโดยยึดหลักพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ พอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม
2.2 พัฒนาการระบบคิดและการฝึกวางแผน ผู้เล่นจะต้องวางแผนด้วยความรอบคอบเพื่อเตรียมพร้อมในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักได้ในที่สุด
2.3 เพิ่มทักษะและการเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน โดยร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ และร่วมกันรับผลที่เกิดขึ้น
 
หลักคิด/ แนวความคิดของกิจกรรม
การปลูกฝังในเรื่องการคิดและใช้ชีวิตพอเพียงในเด็กและเยาวชนนั้นจำเป็นต้องมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและน่าสนใจเกม “The Leader ผู้นำพอเพียง” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เล่นได้เรียนรู้อย่างพอเพียง ผ่านการเล่มเกมที่สนุกสนานพร้อมทั้งทำให้เกิดการซึมซับและฝึกฝนจนเป็นอุปนิสัย
 
รูปแบบ/เนื้อหาหลัก
กิจกรรมการเล่นเกม โดยแบ่งออกเป็น 2 ทีม โดยใช้เวลาทั้งหมด 45 นาทีในการเล่น จะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยแบ่งเป็นการบริหารจัดการ ให้สามารถไปสู่จุดมุ่งหมายได้ มีทั้งการคิดคำนวณและการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า และผู้ที่ลงชื่อเข้าร่วมเล่นเกมจะได้รับใบสถานการณ์คนละ 6 ใบ โดยผู้เล่นต้องเอาความรู้มาใส่ลงไปในใบสถานการณ์นั้น ๆ จะมีคะแนนให้ในส่วนนี้สถานการณ์ละ 10 คะแนน โดยสถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้มาจากการเดินดูบอร์ดต่างๆ ในงานนี้ หรือนำเอาสถานการณ์/เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเขียนลงไป
 
-
 
 
เครื่องมือ/กระบวนการนำเสนอ
กระบวนการ มีกล่องสำหรับทำกิจกรรมประกอบไปด้วย
1. แผ่นตารางสำหรับเป็นกระดานในการเล่นซึ่งประกอบไปด้วยรูป คน โรงเรียน อาชีพ การแก้ไขสถานการณ์ ลูกเต๋า 3 ลูกเพื่อใช้เป็นงบประมาณ และใบคำสั่ง
2. ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทอดลูกเต๋าเริ่มเล่นเอาหน้าที่เปิดขึ้นของลูกเต๋าสามหน้ามาบวกกันจะได้เป็นจำนวนรวมของงบประมาณ และให้ผู้เล่นคำนวณว่า จะใช้งบประมาณที่ได้ซื้ออะไรบ้าง โดยทำแบบนี้ไป 5 ครั้ง ครั้งที่ 6 จะเป็นการเปิดการ์ดสถานการณ์ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการรับผลคนเดียว รับผลเป็นคู่ เป็นต้น
3. เกมดังกล่าวนี้ จะมีผลปรากฏทั้งผู้ที่ชนะ แพ้ และเสมอ ซึ่งผู้ที่ชนะจะได้คะแนน 40 คะแนน เสมอ 30 คะแนน และแพ้ 20 คะแนน ตามลำดับ นอกจากนี้จะนำคะแนนจากใบสถานการณ์มาบวกด้วยโดยมีคะแนนเต็มทั้งหมด 60 คะแนน
4. ในส่วนของใบสถานการณ์นั้นจะมี 6 ใบ มีค่าคะแนนใบละ 10 คะแนน ซึ่งให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันไปเก็บข้อมูลจากนิทรรศการต่างๆ ภายในงานแล้วเขียนความรู้ที่ได้รับ
 
ผลที่เกิดขึ้น
 
กิจกรรมดังกล่าวเป็นเกมทำให้ผู้เข้าร่วมเล่น ไม่สามารถจะออกไปไหนได้ในระหว่างการแข่งขัน ตลอดจนความอยากรู้ว่าเกมดังกล่าวนั้นเล่นอย่างไรจึงทำให้กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมในจำนวนคงที่ตั้งแต่ต้นจนจบ ทางวิทยากรหรือผู้ที่คอยแนะนำการเล่นเกมได้การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสอบถามตลอดเวลา เนื่องจากเป็นการอธิบายเกมให้กับผู้เข้าร่วม ดังนั้นจึงมีการซักถามเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ประกอบกับมีการให้กำลังใจโดยการมอบรางวัลเมื่อผู้แข่งขันเอาใบประสบการณ์มาส่งพร้อมผลการแข่งขันเกมที่แข่งขันไป อาทิเช่น เสื้อ ประกาศนียบัตร เป็นต้น
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติม

กิจกรรมนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คนต่อวัน และมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 คน เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก แต่ผู้สังเกตไม่แน่ใจว่าเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเข้าใจในจุดมุ่งหวังของผู้จัดอย่างเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากเป็นเกมที่ผู้แข่งขันมุ่งหวังในการคิด วางแผน คำนวณเงิน แต่ไม่ได้เข้าใจหลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากไม่มีการอธิบายให้ความรู้ถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังของเกมแต่ละช่วง ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจซื้ออาชีพ ซื้อคน การเลือกซื้อเกษตรกรในราคา 3 หน่วยแต่จะได้คืนเป็นผลผลิตราคา 2 หน่วยในขณะที่อาชีพอื่นนั้นไม่ได้เงินคืน ความเข้าใจที่มี่ต่อนัยยะที่ต้องการสื่อสารของอาชีพนี้ คืออะไร จะเนื่องมาจากอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เป็นผู้ผลิตอาหารให้แก่สังคมเมื่อซื้ออาชีพดังกล่าวจึงยังได้กลับคืนมา ในขณะที่อาชีพอื่นต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าและไม่ได้กลับคืนมาใช่หรือไม่ เป็นต้น การซ่อนความคิดไว้เบื้องหลังอาชีพนั้นเด็กอาจไม่สามารถเข้าใจได้เองในช่วงเวลาสั้นๆ จากการเล่นเกม จำเป็นต้องให้ความรู้และคำอธิบายเสริม มิเช่นนั้น จะทำให้ผู้เล่นมุ่งน้ำหนักที่การได้คำนวณเงินที่มีกับการซื้ออาชีพ การแก้ปัญหา แต่ไม่ได้ทำให้ได้ความเข้าใจเชิงลึกตามมา เกมนี้จะให้ผลเป็นเกมเพียงฝึกคำนวณเงิน แต่ไม่ได้เป็นเกมที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เล่นถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาจจะเป็นการดีกว่านี้หากผู้ดูแลประจำโต๊ะจะอธิบายเมื่อเกมจบลงว่าควรจะเล่นอย่างไรและในการเล่นนั้นมีหลักคิดใดซ่อนอยู่ ส่วนการระบุความรู้ในใบสถานการณ์จำนวน 6 ข้อนั้น เป็นกิจกรรมที่ดีที่ทำให้เด็กได้ไปเรียนรู้จากกิจกรรมอื่นๆ ในงาน เป็นการฝึกทักษะการเขียน การบอกเล่าในเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือในจากเกม The Leader

 
  Home  |  About |  Partners  |  News Update  |  Media & Download  |  Activities  |  Volunteers  |  Contact     
 
   
ติดต่อกองเลขานุการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
โทรศัพท์: 02-544-3991 | โทรสาร. 02-544-3896  |   Email: scbfteam@gmail.com