HomeAbout |  PartnersNews UpdateKnowledge | Media & DownloadActivitiesVolunteersContact  
 
 
 
 
 
 
 

Workshop การอ่านเพื่อการพัฒนาเด็ก
ณ อาคารหอจดหมายเหตุ ชั้น 2 เวที สวนปฎิจจสมุปบาท
วันที่ 7 พฤษภาคม 2554 เวลา 11.00-12.00 น.

วัตถุประสงค์
การทำ Workshop ครั้งนี้ต้องการนำเสนอ รูปแบบ เทคนิค กระบวนการที่จะส่งเสริมให้เด็กเกิดพัฒนาการที่ต่อยอดจากการอ่านหนังสือเพียงหนึ่งเล่ม ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของการทำกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ทำให้เด็กเกิดความสนใจและรักในการอ่านและการค้นคว้าเพิ่มเติมมากยิ่ง
 
หลักคิด/ แนวความคิดของกิจกรรม
หนังสือคือจุดเริ่มต้นของการอ่านและการค้นคว้าหาความรู้ที่แตกต่างและหลากหลาย เพราะในหนังสือนั้นประกอบไปด้วยเรื่องราวและแง่คิดที่จะก่อให้เกิดพัฒนาการด้านปัญญา ซึ่งตรงกับแนวคิด “พหุปัญญา” 9 ประการ ได้แก่
1) ความฉลาดด้านภาษา การเข้าใจความหมาย ความสามารถในการสื่อสาร
2) ความฉลาดในด้านตรรกะ เหตุและผล
3) ความฉลลาดในด้านดนตรี จังหวะอารมณ์ความรู้สึก
4) ความฉลาดในด้านมิติ การสร้างจินตนาการจากเรื่องราวที่อ่านและการแปลความหมาย
5) ความฉลาดในด้านการเคลื่อนไหว เช่น การเต้น การแสดงท่าทางสื่อความรู้สึก
6) ความฉลาดในด้านการเป็นผู้นำ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
7) ความฉลาดภายในตน การรับรู้ตนเอง เข้าใจตนเอง
8) ความฉลาดในด้านธรรมชาติ การเรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติ
9) ความฉลาดในด้านการคิดใคร่ครวญ การสงสัยและการตั้งคำถาม ความฉลาดตามแนวคิดพหุปัญญาเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างกิจกรรมที่สอดคล้องตามแนวคิดและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในเด็กอย่างหลากหลาย ขอเพียงพ่อแม่ ผู้ปกครองกล้าที่จะเสียสละเวลา
 
รูปแบบ/เนื้อหาหลัก

1. เริ่มจากทีมงานสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เข้าร่วมเวที workshop ผ่านการเล่นเกม เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย

2. จากนั้นทีมงานก็ได้สร้างโจทย์ โดยนำแนวคิดพหุปัญญามาอธิบายเป็นแนวคิดหลักในการทำ Workshop เพื่อให้เห็นความสอดคล้องและผลที่จะเกิดจากการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว

3. เพื่อให้เห็นภาพและเป็นตัวอย่างที่เกิดจากการอ่านเพื่อการพัฒนาเด็กตามแนวคิดดังกล่าว ทีมงานจึงได้นำเสนอการเล่านิทานของเด็ก แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ได้จากการอ่านตามแนวคิดพหุปัญญา ลักษณะท่าทางของเด็กที่แสดงประกอบการเล่านิทาน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่เกิดจากการอ่านแนวคิดพหุปัญญาในทุกๆ ด้าน

4. เมื่อเด็กเล่านิทานเสร็จทีมงานก็จะสรุปประเด็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงให้สอดคล้องตามแนวคิดพหุปัญญา และด้วยระยะเวลาที่มีจำกัดเพียง 1 ชั่วโมง ช่วงท้ายของกิจกรรมทีมงานจึงเร่งการนำเสนอผลงานจากอ่านเพื่อการพัฒนาจากนิทานและหนังสือรูปแบบอื่นๆ และมาสามารถเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ตามที่ทีมงานได้เตรียมมาตั้งแต่ต้น
 
 
 
เครื่องมือ/กระบวนการนำเสนอ
การจัดเวที Workshop ที่เกิดขึ้น เครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อนำเสนอกระบวนการนั้น เป็นการเล่านิทานของเด็กที่เกิดจากการพัฒนาด้านการอ่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมองเห็นผลที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังมีการใช้สื่อ อุปกรณ์ประกอบการเล่านิทาน เช่น ฉาก สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเนื้อเรื่องนิทาน เช่น ผลไม้ สัตว์ เป็นต้น กระบวนการนำเสนอของทีมงานในครั้งนี้จึงสามารถทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมมองเห็นภาพและสัมผัสผลที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
 
ผลที่เกิดขึ้น
 
ความสนใจของผู้เข้าร่วมการทำ Workshop ครั้งนี้ ทุกคนสนใจและตั้งใจฟังในทุกกระบวนการนำเสนอได้เป็นอย่างดี เนื่องจากรูปแบบและเครื่องมือที่นำเสนอมีความน่าสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เข้าร่วมในทุกขั้นตอน ประกอบด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาที่มีอย่างจำกัดและจำนวนผู้เข้ากิจกรรมที่มีจำนวนไม่มาก ทำให้รูปแบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการตั้งคำถามเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ด้วยกระบวนการ เทคนิคที่นำเสนอที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถมองเห็นและสัมผัสผลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม มีส่วนสร้างการเรียนรู้ได้ดี เพราะเป็นการนำเสนอที่มีชีวิตและมีพื้นที่ระหว่างทีมงานกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างใกล้ชิด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลาของการนำเสนอ สำหรับทีมงานที่มานำเสนอกระบวนการ เรื่องราวการพัฒนาเด็กจากการอ่านครั้งนี้ มาจากกลุ่มระบัดใบ ซึ่งมีการจัดซุ้มกิจกรรมอยู่อีกพื้นที่ของงาน ทีมงานจึงได้ซักชวนให้ร่วมติดตามการนำเสนอกระบวนการเช่นนี้อีกครั้งในวันต่อไป
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติม

กิจกรรม Workshop ครั้งนี้ถือเป็นการนำเสนอกระบวนการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กจากการอ่าน ซึ่งสามารถต่อยอดความรู้จากหนังสือนิทานเพียงหนึ่งเล่ม การต่อยอดความรู้ที่แตกต่างหลากหลายตามเนื้อหา เรื่องราวที่ปรากฏในนิทานจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กเกิดจินตนาการและพัฒนาการที่มากกว่าการอ่านจากตัวหนังสือ กิจกรรม สื่ออุปกรณ์ต่างๆ จะทำให้เด็กเกิดความสนใจในกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ผู้ใหญ่ที่ต้องเสียสละเวลาและร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กในทุกๆ ขั้นตอน สำหรับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการที่เด็กอ่านหนังสือออก หากแต่เรื่องราวที่สามารถสัมผัสและเข้าถึงตามจินตนาการของเด็ก ก็สามารถทำให้เด็กเกิดพัฒนาการที่หลากหลายได้เช่นกัน ขอเพียงผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครู มีเวลาและเปิดโอกาสให้เด็กได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้มากยิ่งขึ้น มีการทำกิจกรรมที่ต่อยอดจากเรื่องราวของนิทาน ชวนคิด ชวนตั้งคำถาม ตอบข้อสงสัยของเด็กให้เกิดเป็นการต่อยอดที่แตกต่างและหลากหลายจากหนังสือนิทานเพียงหนึ่งเล่ม เพราะการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กมักเกิดขึ้นจากการได้ทำกิจกรรมที่ให้ความสนุก ความเพลิดเพลิน และรู้สัมผัสได้กับความจริงที่เป็นอยู่ เช่น ในนิทานอาจมีการกล่าวถึงเทวดา เด็กอาจจะสงสัยว่าเทวดาคือใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ และเมื่อเด็กเห็นพ่อแม่กราบไหว้บูชาพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เด็กก็จะเกิดการเชื่อมโยงว่าพ่อแม่กราบไหว้ใคร การเชื่อมโยงจากนิทานและสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงจะทำให้เด็กเกิดพัฒนาการการเรียนรู้ ขอเพียงพ่อแม่มีเวลาที่จะอธิบายและบอกกล่าวสิ่งที่เด็กสงสัยให้สามารถเข้าถึงและสัมผัสได้ตามจินตนาการของเด็ก เป็นต้น การทำกิจกรรมที่ต่อยอดจากการหนังสือนิทานเพียงหนึ่งเล่มนั้น สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองอาจเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้น เพราะต้องอาศัยทักษะในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ระหว่างจินตนาการกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในชีวิตจริง การนำเสนอของเวที workshop ครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเด็กจากการอ่าน ซึ่งต้องใช้เวลาและการทุ่มเทจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง กิจกรรมที่นำมาเสนอจึงเป็นความสำเร็จที่ผู้เข้าร่วมเวทีจะนำไปเป็นแบบอย่าง สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับการอ่านน้อย แม้กระทั่งวัยผู้ใหญ่ที่สามารถเลือกสรรหนังสือได้อย่างหลากหลายตามความสนใจ หากแต่สิ่งที่ปรากฏในเวที Workshop กลับพบว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้น้อยมาก จึงสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก เพราะหากผู้ใหญ่ไม่ให้ความสนใจกระบวนการเหล่านี้ ผลที่เกิดกับเด็กก็จะถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจเกี่ยวกับการอ่านหนังสือและการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถต่อยอดได้อีกอย่างหลากหลาย การส่งเสริมพัฒนาการด้านการอ่านของเด็ก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง กิจกรรมนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งหากกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมงานคือพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่พาลูกหลานมาเข้าร่วมเรียนรู้ แต่จากข้อเท็จจริงที่สังเกตพบ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ มีจำนวนประมาณ 9-10 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก อีกส่วนหนึ่งเป็นทีมงานที่มาด้วยกัน รวมถึง Staff ที่ดูแลเวทีดังกล่าว และส่วนใหญ่จะมาคนเดียว มีเพียงแม่ที่พาลูกมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ 1 คู่ ผลที่เกิดขึ้นอาจตอบโจทย์ของผู้จัดได้ไม่มากนัก กิจกรรมลักษณะนี้ควรมีการประชาสัมพันธ์รวมถึงลงทะเบียนล้วงหน้า โดยกำหนดเงื่อนไขของการเข้าร่วมว่าควรมาเป็นคู่ (ผู้ปกครอง-เด็ก, พ่อแม่ ลูก เป็นต้น)

 
  Home  |  About |  Partners  |  News Update  |  Media & Download  |  Activities  |  Volunteers  |  Contact     
 
   
ติดต่อกองเลขานุการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
โทรศัพท์: 02-544-3991 | โทรสาร. 02-544-3896  |   Email: scbfteam@gmail.com