HomeAbout |  PartnersNews UpdateKnowledge | Media & DownloadActivitiesVolunteersContact  
 
 
 
 
 
 
 

นิทรรศการกระบวนการเรียนรู้ของเด็กชนบทจากของเล่นพื้นบ้าน
ณ station ปฏิรูปการเรียนรู้ (การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง)
วันที่ 7 พฤษภาคม 2554 เวลา 13.00-16.00 น.

 
วัตถุประสงค์
นำเสนอกระบวนการเรียนรู้ของเด็กชนบท
 
หลักคิด/ แนวความคิดของกิจกรรม
นำเสนอกระบวนการเรียนรู้ของเด็กชนบทผ่านของเล่นพื้นบ้านของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่
 
รูปแบบ/เนื้อหาหลัก
จัดนิทรรศการโชว์เครื่องเล่นพื้นบ้าน และสอนเยาวชนทำและเล่นเครื่องเล่นพื้นบ้าน ซึ่งของเล่นพื้นบ้านที่นำมาแสดงในนิทรรศการล้วนแล้วแต่เป็นของเล่นในความทรงจำวัยเยาว์ของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่ได้ร่วม กันใช้เวลาว่างในช่วงบั้นปลายชีวิตรวมกลุ่มกันจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์เล่นได้” ภายใต้ชื่อกลุ่ม “คนเฒ่าคนแก่” ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดจากการพูดคุยเรื่องราวในอดีตของผู้เฒ่าผู้แก่แต่ละคน และค้นพบว่าความสุขสนุกสนานจากการเล่นของเล่นในวัยเยาว์นั้นมีเรื่องราวที่งดงามและมีความประทับใจมากมาย จึงเป็นที่มาของการเริ่มดึงความสุขจากใจคนเฒ่าคนแก่ออกมาเล่าขานผ่านของเล่นเด็กอันเปี่ยมด้วยคุณค่า จากการเริ่มทำของเล่นพื้นบ้านด้วยความสุขใจ นำไปสู่การผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้แก่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ซึ่งคนเฒ่าคนแก่แต่ละคนจะสร้างของเล่นมากน้อยก็แล้วแต่กำลังของตนเอง “คนแก่ที่นี่เราทำกันตามกำลัง ใครมีแรงเท่าไหร่ก็ทำไป เราต้องการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้คนแก่ว่างงานมีชีวิตชีวา เวลาหลานๆ เด็กๆ ในชุมชนเห็นก็อยากลองทำเราก็สอนให้ สมัยนี้ความสุขบางอย่างได้หายไปจากสังคมบ้านเราป้ออุ้ย แม่อุ้ยที่นี่เลยอยากคืนความสุขที่ไม่ต้องตามหาให้สังคมบ้าง” (วีรวัฒน์ กังวานนวกุล - ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เล่นได้, สัมภาษณ์)
 
 
 
เครื่องมือ/กระบวนการนำเสนอ
นิทรรศการของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่นำเสนอวิถีชีวิตและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กชนบทผ่านเครื่องเล่นพื้นบ้านที่เด็กๆ ในชนบทส่วนใหญ่เล่นกัน
 
ผลที่เกิดขึ้น
 
ผู้เข้าชมนิทรรศการส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ ที่มาพร้อมกับผู้ใหญ่ที่ดูแลหรือผู้ปกครอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ ที่มาร่วมงานมหกรรมฯ แต่ก็มีเด็กๆ บางคนที่มาเที่ยวชมงานกับผู้ปกครองและให้ความสนใจ station นี้และได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการ ทำกิจกรรมร่วมกันประมาณ 20 คน ในช่วงที่มีการสอนทำของเล่นพื้นบ้านเด็กก็ตั้งใจและจับตาดูผู้ใหญ่ที่เป็นคนสอนทำและพยายามทำตามให้ได้ ในส่วนของการเล่นของเล่นพื้นบ้านก็มีคนสอนเด็กๆ เล่นของเล่นพื้นบ้าน เด็กๆ ที่เข้ามาชมนิทรรศการโดยส่วนมาจะให้ความสนใจนิทรรศการตั้งแต่การเยี่ยมชมนิทรรศการ (ของเล่นพื้นบ้าน) เล่นของเล่นต่างๆ เช่น จักรยานล้อเดียว ไม้ก๋งเก๋ง เป็นต้น หลังจากนั้นก็ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ด้วยการหัดทำของเล่นชื้นเล็กๆ ของคนเอง รวมทั้งการจับจ่ายซื้อของเล่นพื้นบ้านติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทางกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ได้จัดขึ้น ซึ่งทางกลุ่มได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้มาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเล่นของเล่นพื้นบ้าน การหัดทำของเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น ระหว่างการทำกิจกรรมร่วมกันนั้นก็มีการพูดคุย ซักถาม เกี่ยวกับการทำของเล่นพื้นบ้าน วิธีเล่นของเล่นพื้นบ้าน ซึ่งผู้จัดนิทรรศการก็ให้ข้อมูลเป็นอย่างดี การจัดนิทรรศการของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ พิพิธภัณฑ์เล่นได้นั้น ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมากระหว่างการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่ผู้เยี่ยมชมได้เข้ามาชมนิทรรศการแล้วตั้งคำถามว่า “ของเล่นชิ้นนี้คืออะไร” ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปๆ ว่า แล้วทำอย่างไร เล่นอย่างไร ซึ่งผู้จัดนิทรรศการก็สามารถให้ข้อมูลตอบคำถามข้อสงสัยของผู้เข้าชมนิทรรศการได้ทุกประเด็น นอกจากนั้นในกิจกรรมการทำของเล่นพื้นบ้าน ผู้เข้าชมงานก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมๆ กับผู้จัดนิทรรศการที่พยายามอธิบายถึงวิธีทำ สอนทำของเล่นพื้นบ้านให้แก่ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการเป็นอย่างดี ในส่วนของการสอนเล่นเครื่องเล่นพื้นบ้าน ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ใหญ่ที่สอนเด็กๆ เล่นเครื่องเล่นต่างๆ ซึ่งถือว่ามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้นพอสมควรในประเด็นของการสอบถามถึงวิธีเล่นว่าเล่นอย่างไร ทำไมจึงเกิดเครื่องเล่นชื้นนี้ขึ้น เป็นต้น สำหรับการเยี่ยมชมนิทรรศการ “พิพิธภัณฑ์เล่นได้” ของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่นั้น เป็นนิทรรศการที่ให้อะไรมากกว่านิทรรศการแสดงโชว์ของเล่นพื้นบ้าน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้จัดนิทรรศการและผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ ภายใต้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้นแฝงไปด้วยกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านผ่านการทำของเล่นพื้นบ้าน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านได้รับการถ่ายทอดออกไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ถึงแม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะอาจจะไม่ได้นำภูมิปัญญาในการสร้าง/ประดิษฐ์เครื่องเล่นไปสอนใครต่อก็ตาม แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รับรู้ว่าของเล่นเหล่านี้เป็นของเล่นที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติม

นิทรรศการของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ค่อนข้างจะได้รับความสนใจจากกลุ่มเด็กที่มาร่วมงานมหกรรมฯ อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่สนใจการเล่นของเล่นพื้นบ้านที่ตนเองไม่เคนเห็นมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามบริเวณพื้นที่ในการทำกิจกรรมของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ค่อนข้างอยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางของงาน (ถึงแม้ว่าจะอยู่ใกล้กับเวทีกลาง) ทำให้เด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มาทำกิจกรรมใกล้เคียงบริเวณดังกล่าวไม่มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการ นอกจากนั้นสถานที่ในการตั้ง Station นั้นเป็นพื้นที่ลุ่ม มักมีน้ำขังจำนวนมากหลังจากฝนตกทำให้เล่นของเล่นค่อนข้างลำบากเพราะพื้นที่แฉะไปด้วยน้ำ รวมทั้งผู้คนไม่ค่อยอยากเดินเข้าไปเพราะน้ำขังและเป็นโคลน สำหรับของเล่นพื้นบ้านแต่ละชิ้นที่ทางกลุ่มคนเฒ่าคนแก่นำมาแสดงในการจัดนิทรรศการภายใน station นั้น ล้วนเป็นสิ่งของที่แฝงไปด้วยคุณค่าทางความคิด ภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน ดังนั้นการพยายามอนุรักษ์เผยแพร่ภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ผ่านของเล่นเหล่านี้จะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยให้ภูมิปัญญาชาวบ้านยังคงอยู่

 
  Home  |  About |  Partners  |  News Update  | Knowledge  |  Media & Download |  Activities  |  Volunteers  |  Contact     
 
   
ติดต่อกองเลขานุการจัดงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
โทรศัพท์: 02-544-3991 | โทรสาร. 02-544-3896  |   Email: scbfteam@gmail.com